Arowana หรือ ปลามังกร ถือว่าเป็นราชาแห่งปลาน้ำจืด เป็นที่ชื่นชอบของนักเลี้ยงปลามานาน ปลามังกรมีเสน่ห์ดึงดูดสายตาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในปลาใหญ่ แต่การครอบครองปลามังกรนั้นไม่ใช่เรื่องที่ใครๆจะครอบครองกันได้ง่ายๆเนื่องจากตัวปลามังกรนั้นมีราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับปลาสวยงามส่วนใหญ่ที่มีขายกันตามท้องตลาด เนื่องจากการเพาะพันธ์ปลามังกรทำได้ค่อนข้างยากมาก ปลามังกรส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากฟาร์มในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์ พร้อมกับต้องใช้ตู้เลี้ยงปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าตู้ปลาทั่วๆไปจึงทำให้การครอบครองปลามังกรสวยๆเป็นเพียงความฝันของนักเลี้ยงปลาในอดีตหลายๆคน แต่เนื่องด้วยปัจจุบันนี้ราคาปลามังกรถือว่าลดลงมามากแล้วเนื่องจากฟาร์มที่ผลิตปลามังกรในปัจจุบันนี้มีเพิ่มขึ้นมามากมายทำให้ผลผลิตปลามังกรมีออกมามาก ประกอบกับวิธีการเลี้ยงปลามังกรที่เมื่อก่อนอาจจะหาอ่านหาศึกษาเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในปัจจุบันนี้สามารถค้นคว้าได้จากอินเตอร์เน็ทได้มากมาย จึงทำให้มีผู้เลี้ยงปลามังกรเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วและแพร่หลายเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างมาก จึงทำให้มีนักเลี้ยงปลามังกรรุ่นใหม่ๆมีคำถามในการเตรียมตัวเลี้ยงปลามังกรว่าควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการเริ่มเลี้ยงปลามังกร
วันนี้ผมขอพูดถึงการเตรียมตัวเลี้ยงปลามังกรกันก่อน ในส่วนของเรื่องอุปกรณ์ที่ควรจะมีในการเลี้ยงปลามังกรกัน
- ตู้ปลา ตู้ปลาสำหรับเลี้ยงปลามังกรนั้นควรมีขนาดที่ใหญ่และแข็งแรงควรเลือกใช้ขนาดกระจกที่มีความหนาที่เหมาะสมกับความลึกของตู้ด้วยเพื่อความปลอดภัยของตัวปลาเองและผู้เลี้ยง เนื่องจากปลามังกรเป็นปลาใหญ่ที่สามารถโตได้ยาวถึง 30 นิ้วขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ตู้ในการเลี้ยงที่ใหญ่ตามไปด้วย ดังนั้นการเลี้ยงปลามังกรถ้าตู้ยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่ขนาดตู้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลามังกรตั้งแต่เป็นปลาเล็กจนถึงปลาที่โตเต็มวัยหลายๆคน หลายๆที่แนะนำกันเอาไว้ที่ขนาด 60 24 24 นิ้ว (ยาว กว้าง สูง) แต่ผมอยากจะแนะนำขนาดตู้ที่ 72 30 24 นิ้ว (ยาว กว้าง สูง) มากกว่าเพราะเมื่อปลามังกรโตเต็มที่แล้วจะดูไม่ค่อยอึดอัด ถ้าผู้ที่จะซื้อตู้ปลามาเพื่อเลี้ยงปลามังกรถ้าได้ตู้ยิ่งยาวและยิ่งกว้างจะเป็นการดีมาก ส่วนเรื่องความสูงหรือความลึกของตู้จะไม่ค่อยมีผลกับการเจริญเติบโตของปลามังกรมากนักเนื่องจากปลามังกรเป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ เนื่องจากปลามังกรมีนิสัยชอบฮุบอาหารบริเวณผิวน้ำ ตู้ปลาที่ใช้เลี้ยงปลามังกรจึงควรมีการลดระดับน้ำลงมาจากใต้คานบนในตู้ปลา 4 นิ้วด้วยเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลขณะฮุบกินอาหารและลดแรงกระแทกเมื่อปลาเกิดตกใจกระโดด ในปลามังกรที่ยังเล็กมักมีนิสัยระมัดระวังภัยรอบตัวมากกว่าในปลาใหญ่จึงทำให้ปลาเกิดตกใจกระโดดได้บ่อยๆดังนั้นช่องต่างๆบนตู้ปลาควรปิดให้มิดชิดไม่ควรเปิดทิ้งเอาไว้ รวมถึงปิดช่องต่างๆตรงบริเวณน้ำที่จะลงช่องกรองกันปลากระโดดลงไปในช่องกรองด้วยเพื่อป้องกันการสูญเสียปลามังกรอันเป็นที่รักของผู้เลี้ยงเอง
- ฝาตู้ปลา จะเลือกใช้เป็นแบบฝาตะแกรงหรือฝาอะคลีลิคก็ได้ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปคนละแบบ ฝาตู้แบบตะแกรงมีข้อดีคือการดูแลง่ายและอากาศถ่ายเทได้ดีจัดแสงไฟในตู้ปลาได้ง่าย แต่ควรหาอะไรมาถ่วงน้ำหนักฝาแบบตะแกรงหรือหาอะไรมาล็อคฝาตะแกรงกับตู้ปลาด้วย เพื่อกันปลากระโดดออกมานอกตู้ ส่วนฝาอะคลีลิคนั้นจะมีข้อดีคือดูเรียบร้อยสวยงามแต่การระบายอากาศในตู้ปลาให้ถ่ายเทนั้นสู้แบบฝาตะแกรงไม่ได้ทำให้บางครั้งการใช้ฝาตู้้ปลาแบบนี้เป็นสาเหตุให้ปลาเป็นโรคเชื้อราได้ง่าย แต่สามารถแก้ไขได้โดยการติดพัดลมระบายอากาศบนฝาตู้ปลาแบบนี้ หรือจะเลือกใช้วิธีแบบผสมผสานกันโดยเอาฝาอะคลีลิคไว้บริเวณด้านหน้าตู้และใช้ฝาตะแกรงไว้ในส่วนด้านหลังตู้ที่เรามองไม่เห็นก็จะได้ฝาตู้ปลาที่ทั้งระบายอากาศได้ดีและเวลาดูปลาจากด้านหน้าตู้ก็แลดูสวยงาม แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้ฝาตู้ปลาแบบไหนสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือปลาปลอดภัยของตัวปลาเป็นหลัก
- ระบบกรอง ถือว่าเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของตู้ปลาเลยทีเดียว เพราะมีหน้าที่บำบัดของเสียที่อยู่ในน้ำเพื่อที่จะรักษาระดับน้ำให้มีคุณภาพที่ดีเหมาะแก่การเลี้ยงปลา ระบบกรองมีด้วยกันหลายแบบแต่ที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาอโรวาน่าที่อยากจะแนะนำคือ กรองนอกตู้ กรองบนตู้ กรองมุมตู้ กรองข้าง กรองล่าง กรองแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้กรองให้เหมาะสมกับตู้ปลาของเราเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงจะต้องตัดสินใจเอง เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยในการเลี้ยงปลาในแต่ละตู้ไม่เหมือนกัน เช่น ความถี่ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ - ปริมาณน้ำที่เปลี่ยนถ่ายในแต่ละครั้ง , จำนวนและขนาดปลาในตู้ , ปริมาณการให้อาหาร - ของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมา เป็นต้น แต่ถ้าจะให้แนะนำก็แนะนำเป็นกรองล่างเนื่องจากกรองล่างเป็นกรองที่สามารถใส่วัสดุกรองได้ในปริมาณที่มากและทำให้ปริมาณน้ำในตู้มีมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้อุณภูมิน้ำในตู้ปลาเปลี่ยนแปลงน้อยลงและคุณภาพน้ำจะดีกว่าตู้ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าในกรณีที่ของเสียเท่าๆกัน
- วัสดุกรอง การเลือกใช้สารกรองหรือวัสดุกรองในตู้ปลาโดยปรกติแล้วจะมีการใช้ใยแก้วเพื่อเป็นการกรองทางกายภายกล่าวคือใช้ใยแก้วในการคัดแยกขยะหรือตระกอนออกจากน้ำ แล้วให้น้ำผ่านไปยังวัสดุกรองที่เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียเพื่อกำจัดและแลกเปลี่ยนของเสียในน้ำให้น้ำกลับมามีคุณภาพที่ดีต่อไป ดังนั้นการเลือกวัสดุกรองจึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงพื้นที่ผิวที่มีปริมาณมากเพื่อให้แบคทีเรียชนิดดีอาศัยอยู่ด้วย โดยหลักๆที่อยากจะแนะนำคือหินภูเขาไฟหรือหินพัมมิสและอาจจะใช้เศษประการังร่วมด้วยก็ได้ ข้อดีของประการังคือจะช่วยควบคุมค่า PH ให้คงที่ ส่วนหินภูเขาไปจะมีรูพรุนมากทำให้แบคทีเรียเข้าไปอยู่อาศัยได้ดีและยังมีแร่ธาตุต่างๆช่วยทำให้ปลาสวยงามอีกด้วย ไม่ว่าจะใช้กรองแบบใดก็ต้องนำวัสดุกรองออกมาล้างทำความสะอาดทุกๆ 3-6 เดือนต่อครั้ง ส่วนสารกรองคาร์บอนถึงแม้จะช่วยดูดซับของเสียและสารพิษในน้ำได้แต่ไม่แนะนำให้ใช้เพราะเมื่อคาร์บอนดูดซับของเสียเข้าไปจนอิ่มตัวแล้วจะเริ่มคลายของเสียออกมาจะทำให้น้ำเป็นพิษไม่เหมาะกับการเลี้ยงปลาจึงไม่แนะนำให้ใช้
- ปั้มน้ำ ถ้าท่านเลือกใช้กรองแบบกรองนอกบางชนิดบางรุ่นจะมีปั้มน้ำในตัวมาด้วย แต่ถ้าใช้กรองบน กรองล่าง กรองข้าง กรองมุม หรือกรองนอกบางรุ่น จำเป็นจะต้องมีปั้มน้ำในการทำให้น้ำในตู้ปลามีการหมุนเวียนเพื่อกำจัดของเสียในน้ำ การเลือกใช้ปั้มน้ำจะต้องมีการคำนวณหาปริมาณน้ำในตู้ปลาก่อนว่าตู้นั้นมีปริมาณน้ำเพียงใด และค่อยเลือกหารุ่นปั้มน้ำที่เหมาะสมกับตู้ปลาของเรา โดยปริมาณการหมุนเวียนน้ำในตู้ปลาควรจะต้องหมุนเวียนให้ได้ประมาณ 3-5 รอบต่อชั่วโมง เช่นตู้ขนาด 96 36 24 จุน้ำได้ประมาณ 1,300 ลิตร ก็ควรหาปั้มน้ำที่สามารถปั้มน้ำได้ในปริมาณประมาณ 4,000 - 6,500 ลิตรต่อชั่วโมง เวลาเลือกซื้อปั้มน้ำอย่าลืมคำนวณถึงระดับน้ำที่เราลดลงจากใต้คานตู้ด้วยรวมถึงถ้าท่านใช้กรองล่างก็ควรคำนวณปริมาณน้ำในตู้กรองล่างบวกเข้าไปด้วย การเลือกซื้อปั้มน้ำต้องคำนวณแรงดันน้ำที่จะส่งน้ำขึ้นไปที่สูงหรือค่า Head max (H) ถ้าปั้มน้ำดันน้ำขึ้นไปที่สูงปั้มน้ำจะเสียแรงดันน้ำลงทำให้ปริมาณน้ำที่ออกมาจากปั้มน้ำได้ลดลง เทคนิคเล็กน้อยในการประหยัดค่าไฟฟ้าก็ควรเลือกปั้มน้ำที่ใช้กำลังไฟน้อยแต่ได้แรงดันน้ำในปริมาณที่จำเป็น การใช้ปั้มน้ำควรที่จะนำออกมาล้างทำความสะอาดเพื่อยืดอายุการใช้งานของปั้มน้ำทุกๆ 3-6 เดือนต่อครั้ง
- ปั้มลม เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเติมอ็อกซิเจนในน้ำเพื่อให้ปลามีชีวิตอยู่ได้ ที่อยากจะแนะนำให้เลือกใช้คือปั้มลมสองระบบหรือปั้มลมที่มีแบตเตอรี่ในตัว ปั้มลมชนิดนี้จะยังทำงานได้ถึงแม้ว่าไฟฟ้าจะดับก็ตามเพราะมีแบตเตอรี่ในตัว เนื่องจากมีแบตเตอรี่ในตัวดังนั้นควรที่จะให้แบตเตอรี่ได้ทำงานบ้างเพื่อยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในตัวปั้มลม โดยการถอดสายไฟออกแล้วเปิดให้ปั้มลมได้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่อย่างน้อยเดือนละครั้ง
- อุปกรณ์วัดค่าน้ำPH,NO2,NO3 น้ำยาหรืออุปกรณ์วัดค่าน้ำควรที่จะมีติดเอาไว้ เนื่องจากเป็นสิ่งเบื้องต้นที่ผู้เลี้ยงจะสามารถตรวจสอบได้ถ้าผู้เลี้ยงสังเกตุเห็นเมื่อปลามีอาการผิดปรกติ หรือแม้แต่จะเช็คค่าน้ำก่อนปล่อยปลาลงตู้เพื่อเปรียบเทียบค่าน้ำในตู้ปลากับน้ำในถุงก่อนปล่อยปลาลงตู้ อุปกรณ์วัดค่าน้ำที่แนะนำว่าอย่างน้อยควรจะมีติดเอาไว้คือน้ำยาหรือเครื่องมือวัดค่า PH เพราะค่า PH จะสามารถบอกผู้เลี้ยงได้หลายอย่างเช่นค่า PH เหมาะกับการเลี้ยงปลาหรือไม่ ถ้าค่า PH ปรกติของตู้ปลาอยู่ที่ 6.5-7 ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลา เปลี่ยนไปเป็น PH5 อาจจะเป็นเพราะว่าสารกรองในตู้นั้นจะต้องนำออกมาล้างทำความสะอาดใหม่เพราะมีของเสียสะสมในกรองมากเกินไป ส่วนอุปกรณ์วัดค่า NO2,NO3 ในน้ำยังไม่จำเป็นเท่า PH แต่ถ้ามีติดเอาไว้ก็จะเป็นการดีเพื่อดูค่าพารามิเตอร์ต่างๆของน้ำว่าเหมาะสมในการเลี้ยงหรือไม่
- น้ำเลี้ยงปลา เรื่องน้ำเลี้ยงปลานี้ผมอยากจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆเลย เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงปลาจริงๆครับ โดยแหล่งน้ำที่เอามาเลี้ยงปลาได้มีมาจากที่ต่างๆ เช่น น้ำฝน น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำบาดาล และ น้ำประปา ในที่นี้ขอพูดถึงน้ำประปาเนื่องจากเป็นน้ำที่สะอาดเหมาะกับการเลี้ยงปลามากและเป็นแหล่งน้ำที่หาได้ง่าย แต่น้ำประปามีคลอลีนติดมาด้วยดังนั้นก่อนนำมาเลี้ยงปลาหรือเติมในตู้ปลาควรมีการพักน้ำอย่างน้อยสองคืนให้คลอลีนระเหยออกไปก่อน ในการพักน้ำถ้าผู้เลี้ยงสามารถเติมอ็อกซิเจนโดยการเปิดปั้มลมลงในน้ำจะช่วยทำให้คลอลีนระเหยออกไปได้เร็วขึ้น หรือถ้าไม่มีที่พักน้ำก็ควรเปิดน้ำผ่านกรองคลอลีนช้าๆก่อนนำน้ำไปเติมลงตู้ปลา อาจจะใช้เป็นกรองคลอลีนตัวเล็กที่ต่อผ่านสายยางหรือจะเป็นกรองคลอลีนแบบถังก็ได้ โดยสารกรองในกรองคลอลีนก็คือคาร์บอนควรจะต้องมีการเปลี่ยนทุกๆ 1-2 ครั้งต่อปี ส่วนน้ำยากำจัดคลอลีนถ้าไม่จำเป็นไม่แนะนำให้ใช้เพราะน้ำยากำจัดคลอลีนใช้สารเคมีในการกำจัดคลอลีนในน้ำซึ่งปลามังกรโดยธรรมชาติมีปฎิกิริยากับสารเคมีได้เร็วมาก แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ขอแนะนำ Tetra Aquasafe ซึ่งผู้เลี้ยงปลาควรมีติดเอาไว้ด้วยเนื่องจากจะช่วยกำจัดคลอลีนแล้วน้ำยาตัวนี้ยังช่วยกำจัดสารพิษในน้ำได้อีกด้วย จึงควรมี Aquasafe ติดเอาไว้ในการเลี้ยงปลาด้วย
- ฮีทเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยทำให้อุณหภูมิน้ำไม่แกว่งและเพิ่มอุณหภูมิน้ำในช่วงที่อากาศเย็นลง โดยอุณหภูมิที่เหมาะแก่การเลี้ยงปลามังกรอยู่ที่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ฮีทเตอร์จะจำเป็นเมื่อผู้เลี้ยงต้องการรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่ในช่วงที่รักษาโรคต่างๆของปลามังกรอีกด้วย
- เกลือ ถือว่าเป็นยาวิเศษกับเลี้ยงปลามังกรเลยทีเดียว เพราะเกลือช่วยทำให้ปลาสดชื่นลดอาการเครียดของปลาลงได้และยังรักษาโรคได้ เช่น โรคจุดขาวเป็นต้น เกลือควรเลือกใช้เป็นเกลือทะเลหรือเกลือเม็ด การคำนวณปริมาณการใช้เกลือขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เกลือเพื่อกรณีต่างๆ เช่นการใช้เกลือเพื่อลดความเครียดของปลาหรือรักษาบาดแผลของปลาควรใช้ที่ 0.1% ต่อปริมาณน้ำในตู้ ส่วนถ้าจะใช้เกลือเพื่อรักษาโรคจุดขาว , เกล็ดพอง ฯลฯ จะใช้เกลือที่ความเข้มข้นที่ 0.3%ต่อปริมาณน้ำในตู้ปลา ยกตัวอย่างเช่นปริมาณน้ำในตู้ปลาเท่ากับ 1000 ลิตร 0.1% จะเท่ากับปริมาณเกลือ 1 กิโลกรัม การเติมเกลือปรกติจะเติมลงในตู้เพียงครั้งเดียวแล้วไม่เติมลงไปอีกนอกจากเปลี่ยนน้ำก็จะเติมลงไปในปริมาณที่ผู้เลี้ยงปลาได้นำน้ำออกเท่านั้น ไม่ได้เติมลงไปใหม่ทั้งหมด
จากที่กล่าวมาผมหวังว่าน่าจะเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเลี้ยงปลามังกรให้กับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงปลามังกรได้ไม่มากก็น้อย สิ่งที่ผมเขียนขึ้นมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่กฎตายตัวสามารถปรับแต่งให้เข้ากับการเลี้ยงปลาของแต่ละบุคคลได้ ทั้งหมดที่เขียนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยงปลามังกรโดยสิ่งต่างๆนั้นมาจากการอ่าน ศึกษา สอบถาม และประสบการณ์จากการเลี้ยงปลามังกรของผมเอง ผู้ที่สนใจในการเลี้ยงปลามังกรควรหาข้อมูลและศึกษาให้มากๆ ถ้าผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยเอาไว้ในที่นี้ด้วย
ขอให้เลี้ยงปลาอย่างมีความสุข
xtraart
xtraart
ขอบคุณมากครับที่ให้ความรู้ดีๆ แถมแบคกราวน์สวยที่สุด เท่าที่เคยอ่านเพจปลามา ^_^
ตอบลบสุดยอดไปเลยคับละเอียดเลยคับ
ตอบลบขอบคุณครับสำหรับความรู้ดีๆสำหรับมือใหม่
ตอบลบเป็นความรู้มากมาย ให้กับผู้เริ่มเลี้ยงปลามังกร เลยทีเดียวคะ ขอบคุณที่เขียนข้อความนี้ขึ้นมาคะ
ตอบลบ